กระเบื้องกระเดิด ระเบิด มีลักษณะอย่างไร
กระเบื้องกระเดิดหรือกระเบื้องระเบิด คือกระเบื้องปูพื้นที่เกิดการดันตัวขึ้น จากหลากหลายสาเหตุเช่น อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ความชื้นชั้นใต้ดิน ส่งผลให้ตัวกระเบื้องดันขึ้นจนเกิดการแอ่นตัว หรือหดตัว จนหลุด แยก แตกออกจากกันในที่สุด ซึ่งอาจจะเกิดการกระเดิดเป็นพื้นที่กว้าง หรือ เป็นบางจุด
กระเบื้องกระเดิด เกิดจากอะไร
1. กรรมวิธีการปูพื้นกระเบื้องแบบผิดๆ
วิธีการปูกระเบื้องเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ เพราะหากปูกระเบื้องผิดวิธีจะส่งผลต่อความเสียหาย โดยส่วนใหญ่แล้วการปูพื้นกระเบื้องเพื่อป้องกันปัญหากระเบื้องกระเดิดจะใช้เทคนิคการปูด้วยปูนกาวซีเมนต์ แต่ปัจจุบันส่วนใหญ่ ช่างมักใช้วิธีการปูพื้นกระเบื้องแบบปูนกาวผสมทราย เพราะพื้นดินบริเวณบ้านส่วนใหญ่มีความเรียบที่ไม่สม่ำเสมอ การปูพื้นด้วยวิธีนี้จึงเป็นวิธีที่ง่าย และนิยมใช้ แม้จะสุ่มเสี่ยงให้เกิด ปัญหาของพื้นกระเบื้อง แต่ทั้งนี้การปูกระเบื้องด้วยการทาปูนกาวซีเมนต์ต้องทากาวให้ทั่วแผ่นกระเบื้องนะครับ เพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดความชื้นสะสมใต้แผ่นกระเบื้องทำให้กระเบื้องปูพื้นเด้ง หรือกระเดิดได้เหมือนเดิม
2. อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ปัญหากระเบื้องเกิดขึ้นได้กับทั้งบ้านชั้น 1 และชั้น 2 เพราะด้วยอุณหภูมิของบ้านที่ช่วงเวลากลางวันจะมีความร้อน จนเกิดการสะสมความร้อนบนอิฐผนังหรือพื้น โดยจะรอคลายความร้อนในบ้านในเวลาช่วงเย็น ทำให้อุณหภูมิเกิดการเปลี่ยนแปลง ตัวคอนกรีตสามารถยืดหยุ่นได้ แต่ตัวกระเบื้องไม่สามารถยืดหยุ่นเหมือนแผ่นคอนกรีต จึงเป็นสาเหตุให้กระเบื้องกระเดิด
3. ปูกระเบื้องชิดมากไป โดยไม่เว้นร่องยาแนว
อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้กระเบื้องกระเดิด ซึ่งการปูกระเบื้องจะมีควาสัมพันธ์กับตัวอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้กระเบื้องขยายตัวและดันขึ้นจน กระเบื้องโก่งตัวครับ
4. ความชื้นบริเวณพื้นดิน หรือใต้ดิน
บริเวณพื้นใต้ดิน มักมีน้ำสะสมอยู่ ทำให้เกิดความชื้นบริเวณใต้กระเบื้อง บางครั้งเกิดการซึมขึ้นมาตามร่องกระเบื้อง เจ้าของบ้านต้องคอยสังเกตนะครับ เมื่อพื้นดินมีความชื้นสะสมอยู่ และโดนความร้อน ไอน้ำบริเวณใต้ดินจะดัน กระเบื้องปูพื้นเด้ง ซึ่งสาเหตุนี้มักพบกับพื้นบ้านบริเวณชั้น 1 หรือบริเวณภายนอกบ้านที่โดดแดดอยู่ตลอดเวลา
5. พื้นผิวก่อนการปูกระเบื้องเป็นพื้นผิวเก่า และไม่สะอาด
ก่อนการปูกระเบื้องควรตรวจสอบสภาพพื้นผิวของพื้นที่จะใช้ปูกระเบื้องให้มีผิวที่เรียบเนียนและสม่ำเสมอเสียก่อน หากมีเศษวัสดุตกหล่นต้องกำจัดทิ้ง หรือหากเป็นพื้นปูเดิมแนะนำให้กะเทาะพื้นเดิมให้เป็นหลุมเสียก่อน เพื่อให้ส่วนผสมปูนและทรายเกิดการยึดเกาะเมื่อปูกระเบื้องใหม่
6. กระเบื้องมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน
กระเบื้องที่มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน จะส่งผลให้ปูนกาวที่เชื่อมระหว่างกระเบื้องเกิดการเสื่อมสภาพ และยิ่งหากบริเวณตัวบ้านเกิดการทรุดตัวเอียง จะยิ่งส่งผลให้เกิดแรงบีบอัดระหว่างกระเบื้อง จนทำให้กระเบื้องกระเดิด กระเบื้องโก่งตัว ได้เช่นกัน